การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพนั้น
นักบริหารทรัพยากรมนุษย์จะต้องทำการคาดการณ์ความต้องการบุคลากรขององค์การในแต่ละช่วงระยะเวลาอย่างถูกต้อง
โดยพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การรับบุคลากรเข้าทำงาน
การฝึกอบรมและการพัฒนา การประเมินผลจนกระทั่งบุคลากรได้พ้นออกจากองค์การ
โดยวิธีการคาดการณ์ที่มีความแม่นยำสูงจะส่งผลให้การวางแผนมีความถูกต้อง
เชื่อถือได้ และสามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม
หัวข้อนี้จะกล่าวถึงวิธีการที่ถูกนำ
มาใช้ในการคาดการณ์ความต้องการด้านทรัพยากรมนุษย์ขององค์การ
เพื่อให้ผู้สนใจได้มีความรู้และความเข้าใจในหลักการคาดการณ์ความต้องการด้าน
ทรัพยากรมนุษย์ขององค์การ
ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมสำหรับนำไป
ปฏิบัติการวางแผนบุคลากรได้อย่างเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติงานจริง
โดยที่วิธีการคาดการณ์ด้านกำลังคนขององค์การที่นิยมใช้มีดังต่อไปนี้
1.
การคาดการณ์จากสมการพื้นฐาน วิธีการนี้จะเป็นการคำนวณหาจำนวนบุคลากรที่องค์การต้องการในแต่ละช่วงเวลา จากสูตรพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ต่อไปนี้
จำนวนบุคลากรที่ต้องการเพิ่มขึ้น = จำนวนบุคลากรที่ต้องการทั้งหมด
– จำนวนบุคลากรคงเหลือ
จำนวนบุคลากรที่ต้องการทั้งหมด = จำนวนงาน
อัตราส่วนของงานต่อบุคลากร
2.
การใช้แบบจำลองการวางแผนรวม (Aggregate Planning Model) วิธีการนี้จะคาดการณ์ปริมาณความต้องการบุคลากรขององค์การในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.
การใช้วิธีการทางสถิติ (Statistical Forecasting Methods) วิธีการนี้จะนำหลักการ
ทางสถิติและคณิตศาสตร์
เช่น กำหนดการเส้นตรง (Linear Programming)
และการวิเคราะห์การถดถอย (Regression Technique) มาช่วยในการพยากรณ์ความต้องการทรัพยากรมนุษย์ขององค์การในช่วงระยะเวลาที่สนใจ
4.
การใช้แบบจำลองของมาร์คอฟ (Markov
– model) วิธีการนี้จะนำหลักการคณิตศาสตร์ขั้นสูงมาประยุกต์ในการศึกษาและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต
เพื่อองค์การจะได้จัดเตรียมแผนในการสรรหา การคัดเลือก
การฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละตำแหน่ง
เทคนิคการพยากรณ์ที่กล่าวมา
เป็นเพียงการยกตัวอย่างของวิธีการที่ใช้ในการคาดการณ์ด้านทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับการกล่าวอ้างถึงและนำมาประยุกต์ในภาคธุรกิจ
การที่นักบริหารทรัพยากรมนุษย์จะเลือกใช้วิธีการใดในทางปฏิบัติเพื่อคาดการณ์และวางแผนทรัพยากรมนุษย์นั้น
สามารถจะพิจารณาได้จากมาตรการในการเลือกเทคนิคในการพยากรณ์ดังต่อไปนี้
1.
ระยะเวลา (Time Horizon) ปัจจุบันเวลาเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ
ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ด้านการพยากรณ์ความต้องการทรัพยากรมนุษย์จะต้องเลือกวิธีการที่มีระยะเวลาเหมาะสมกับความต้องการของงาน
โดยให้ผลลัพธ์ที่ได้มีระดับของความถูกต้องและเชื่อถือได้ เหมาะสมกับการใช้งาน
โดยไม่เสียเวลาในการประเมินผลมากเกินไป
2.
ลักษณะของข้อมูล (Pattern of Data) นักพยากรณ์ที่มีความสามารถจะต้องคำนึงถึงธรรมชาติหรือลักษณะของข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเป็นสำคัญ
เพื่อให้สามารถคัดเลือกเครื่องมือในการพยากรณ์ได้อย่างเหมาะสม
และสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดได้อย่างใกล้เคียง
3.
ค่าใช้จ่าย (Cost) ค่าใช้จ่าย
เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานทางธุรกิจเกือบทุกประเภทดังนั้นนักพยากรณ์
ต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมของการพยากรร์แต่ละ
วิธีว่ามีความเหมาะสมอย่างไร
โดยเปรียบเทียบระหว่างกันเอง หรือเปรียบเทียบกับความต้องการของงาน
4.
ความแม่นยำ (Accuracy) ความถูกต้องและแม่นยำของเครื่องมือที่ใช้เป็นหัวใจสำคัญของการพยากรณ์
ดังนั้นนักพยากรณ์สมควรต้องเลือกใช้วิธีการที่มีความถูกต้องและแม่นยำในระดับที่ยอมรับได้สำหรับงานแต่ละชนิด
5.
ความง่ายในการนำไปใช้ (Ease of Application) เนื่องจากสมาชิกแต่ละคนของหน่วยงานวางแผนทรัพยากรมนุษย์ต่างมีความรู้
ทักษะ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
ดังนั้นักพยากรณ์จึงต้องเลือกวิธีการที่มีความง่ายในการนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อที่สมาชิกทุกคนในทีมงานจะได้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นและมีอุปสรรค์น้อยที่สุด
นักบริหารทรัพยากรมนุษย์จะต้องทำการ
วิเคราะห์ในแต่ละปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์และสถานการณ์ก่อนที่จะทำ
การตัดสินใจเลือกวิธีการพยากรณ์
เพื่อที่จะได้วิธีการที่เหมาะสมกับการประยุกต์ใช้ในการคาดการณ์ด้านบุคลากร
สำหรับการทำแผนงานของแต่ละองค์การ
โดยวิธีการที่ดีไม่จำเป็นต้องยุ่งยาก ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายสูง
แต่ต้องเป็นวิธีการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและ
ประสิทธิผล
ภายใต้ข้อจำกัดด้านบุคลากร ระยะเวลา
และค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมขององค์การ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น